Kitchen is the most important room
หิวขึ้นมาทีไรก็ต้องเข้าครัวทุกที ฉะนั้นคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านอกจากรูปแบบของห้องครัวที่ดี และสวยงามแล้ว การออกแบบ การจัดวาง หรือการจัดการกับสิ่งของ เครื่องครัว และเครื่องใช้ภายในห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
แม้ว่าปัจจุบัน หลายครอบครัวต้องการห้องครัวสมัยใหม่ พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องครัวแบบใหม่ครบครัน เช่น เตาไฟฟ้า ตู้อบไฟฟ้า หม้อ กระทะ ฯลฯ แต่ไม่ต้องการใช้งานครัวหนักเหมือนสมัยก่อน ต้องการลดบทบาทที่แท้จริงของห้องครัวลงไป และไม่สะดวกกับการใช้งานครัวที่หนักอีกต่อไป ครัวมีไว้เพื่อความสวยงาม และเป็นเพียงห้องที่เอาไว้อุ่นอาหารให้ร้อน เพื่อพร้อมรับประทานเท่านั้น

การทำให้ห้องครัวเป็นห้องครัวสุขภาพดี ก็ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบห้องครัวให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน และเลือกอุปกรณ์เครื่องครัว และการตกแต่งที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลห้องครัวด้วยวิธีที่ปลอดภัย
1. ห้องครัว ควรเป็นห้องที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้สะดวก ครัวที่ดีควรได้รับการจัดสรรที่เก็บเครื่องทำครัว ให้เหมาะและเข้ากับลักษณะการใช้งาน หยิบฉวยได้ง่ายและสะดวก
2. การเลือกใช้วัสดุ สี ในการตกแต่งปรับเปลี่ยนโฉมผนัง พื้น เคาน์เตอร์ ตู้เก็บของ ให้มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อน ความชื้น ไม่ดูดซับกลิ่น คราบสกปรก ข้อสำคัญต้องเช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งชุมนุมของมด แมลงสาบ รวมถึงเจ้าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่จะนำมาซึ่งโรคทางเดินอาหาร
3. ควรมีการระบายอากาศที่ดีสามารถ เช็ดถูทำความสะอาดได้อย่างสะดวกหลังใช้งานอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมคราบมัน เขม่าที่เกิดจากควันไฟและความชื้นในห้องครัว เลือกใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ในห้องครัวด้วยวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่ดูดซับเศษอาหารหรือเชื้อโรค เช่น วัสดุที่ทำจากสแตนเลส เป็นต้น
4. ควรออกแบบระบบไฟฟ้า ที่ต้องใช้ในห้องครัวอย่างรัดกุม เพื่อการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย เพราะในปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงในการทำอาหารมากมาย ต้องใช้ปลักไฟจำนวนมากจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรตรวจสอบปลั๊กไฟให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
5. เนื่องจากห้องครัวเป็นที่เก็บอาหาร จึงมักจะมีแมลงหรือสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ มากมาย จึงต้องมีที่เก็บอาหารที่มิดชิดและต้องมีการหาวิธีกำจัดแมลง และบรรดาสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ห้องครัว จึงควรจะมีการกำจัดแมลงและสัตว์ต่าง ๆ นี้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับสมาชิกในบ้าน ด้วยวิธีชีวภาพโดยการเอาสมุนไพรไทยมาช่วยในการไล่แมลง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น
6. อ่างล้างจาน ผิวเคาน์เตอร์และเขียง เป็นที่เพาะพันธุ์แบคทีเรียชั้นดี ดังนั้นพยายามเลือกวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่ดูดซับเศษอาหารหรือเชื้อโรค เคาน์เตอร์ที่กรุด้วยกระเบื้องเซรามิกเคลือบมัน ทำความสะอาดง่าย เพราะแข็งแรงไม่เป็นรอยขีดข่วน แต่อย่าลืมระมัดระวังร่องระหว่างแผ่น ซึ่งอาจกลายเป็นที่สะสมคราบเศษอาหาร ควรยาแนวให้ดีหรือปูกระเบื้องให้ชิดกันมากที่สุด
7. ควรจะมีผ้าเช็ดทำความสะอาดใกล้มือ เพื่อใช้เช็ดถูทำความสะอาดเคาน์เตอร์ได้บ่อยครั้ง หากเลือกใช้เคาน์เตอร์ไม้หรือเขียงไม้ จะต้องเช็ดถูหรือล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ และที่สำคัญผ้าที่นำมาทำความสะอาดควรจะซัก และแช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื่อโรค และควรเปลี่ยนอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
การเลือกซื้ออุปกรณ์ใช้งานในครัว
- หลีกเลี่ยงประเภทพลาสติก ลามิเนตผสมอะคริลิก หรือโพลีเอสเตอร์ซึ่งมีส่วนผสมของวัสดุที่มีพิษ
- หลีกเลี่ยง การใช้เฟอร์นิเจอร์ครัวที่ผลิตจากวัสดุไม้อัด ปาร์ติ เคิลบอร์ด ซึ่งกระบวนการผลิตต้องใช้กาวสังเคราะห์ที่ทำให้เกิดฟอร์มัลดีไฮด์ หรือถูกเคลือบผิวด้วยสารเคมีที่มีฟอร์มัลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ
- เลือกใช้เคาน์เตอร์ที่ทำด้วยไม้จริงและเคลือบผิวไม้ด้วยการทาสี หรือใช้ยูเรเทนสูตรน้ำหรือใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น แกรนิต สเตนเลสสตีลจะปลอดภัยกว่า
info credit: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=01-2009&date=25&group=23&gblog=35