มีเนื้อหาดีๆ จากหนังสือ “บ้านหลังน้ำท่วม” ซึ่งเขียนขึ้นโดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกอาวุโส และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อแนะนำแนวทางง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของท่านหลังจากน้ำท่วมมาบอกเล่าให้ทราบกันเป็นประเด็นดังนี้
# ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม
ขณะน้ำท่วมทุกบ้านคงจะปิดวงจรไฟฟ้าหรือคัทเอ้าท์ทั่วทั้งบ้าน ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าเดินในระบบ ซึ่งลดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย และแก้ปัญหาจากไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อน้ำลดลงควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านของท่านดังนี้
• เปิดคัทเอ้าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ คัทเอ้าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1 วันให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ หากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามช่างไฟมาแก้ไขดีกว่าเสี่ยงชีวิต
• เมื่อทดสอบผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุดและทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กว่ามาปกติหรือไม่ด้วยไขควงทดสอบไฟ หากทุกจุดทำงานได้ก็สบายใจได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน ถ้ายังมีปัญหาก็คงต้องตามช่างมาแก้ไขหรือเปลี่ยนปลั๊ก/ สวิช์เหล่านั้น
• ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัทเอ้าท์ไว้แล้งววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็ว
• หากพอมีงบประมาณสำหรับปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านของท่าน แนะนำให้ตัดปลั๊กไฟในระดับต่ำๆ ในบ้านชั้นล่างออกให้หมด (ถ้าคิดว่าน้ำท่วมอีกแน่ๆ ) แล้วปรับตำแหน่งปลั๊กไฟไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.10 เมตร หลังจากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2-3 วงจร คือ
1. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นล่าง (ที่น้ำอาจท่วมถึง)
2. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นบนขึ้นไป (ที่น้ำท่วมไม่ถึง)
3. วงจรสำหรับเครื่องปรับอากาศ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ท่านควบคุมการเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอิสระ และง่ายต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษา
# ตรวจสอบระบบประปาหลังน้ำท่วม
เป็นอีกระบบที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย มีแนวทางตรวจสอบระบบประปาในบ้านหลังน้ำท่วมดังนี้
• ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง พึงระลึกเสมอว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำสกปรกเสมอ ดังนั้นควรล้างทำความสะอาดถังน้ำ และบ่อน้ำให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของท่านและสมาชิกในบ้าน โดยไม่เสียดายน้ำ แล้วจึงปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่ง
• บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำ และถังอัดความดันว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิม (ก่อนน้ำท่วม) หรือไม่ หลังจากนั้นตรวจสอบดูว่าถังอัดความดันทำความดันได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติควรตรวจสอบด้วยการแกะ แงะ ไข ว่ามีเศษผง สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่
• หากปั๊มน้ำที่บ้านท่านถูกน้ำท่วม ให้เดาไว้ก่อนว่าน่าจะเสียหายและหากใช้งานต่อไปเลยอาจเกิดอันตรายจากความชื้นในมอเตอร์ได้ ควรเรียกหาช่างมาทำให้แห้งเสียก่อนตามกรรมวิธีทางเทคนิค (ที่ไม่ใช่นำไปตากแดดแบบเนื้อเค็ม) เพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ในตัวมอเตอร์ได้
# ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม
อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้แก่เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ และอาจรวมไปถึงรถยนต์ก็ได้ เป็นเครื่องจักรกลที่เราท่านไม่น่าประมาท หรือหาทางแก้ไขซ่อมแซมเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเพิ่งใช้เด็ดขาด เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วม ก็แสดงว่าน้ำไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้จะป่วยไข้ เสียหายแค่ไหน การนำไปตากแดดแล้วมาใช้งานต่อเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตท่าน และอัคคีภัยในบ้านท่านมากจากการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องกลของเครื่องเหล่านั้น แต่ถ้าหากจะยังใช้งานจริงๆ ก็มีข้อแนะนำดังนี้คือ
• ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีคนอยู่ด้วยเสมอ เผื่อเวลาฉุกเฉินจะได้ปิดเครื่อง ดึงปลั๊กได้ทันที
• ที่ Cut out ไฟฟ้าหลักของบ้านท่าน ต้องมีฟิวส์คุณภาพติดตั้งเสมอ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อใด ต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออกทันที
• เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำไปแก้ไขซ่อมแซมโดยช่างผู้รู้ทันที
# ซ่อมพื้นไม้ปาเก้หลังน้ำท่วม
ถ้าพื้นบ้านของท่านเป็นไม้ปาเก้ แล้วถูกน้ำท่วมก็ต้องเข้าใจไว้นิดหน่อยนะว่า ปาเก้หรือไม้แผ่นชนิดนี้อยู่ได้ด้วยกาวติดกับพื้นคสล.(ย่อมาจาก คอนกรีตเสริมเหล็ก) จึงแพ้น้ำ(ท่วม)อย่างแรง เพราะไม้จะบวมน้ำและหลุดล่อนออกมาในที่สุดเป็นเรื่องธรรมดา บางทีหากน้ำท่วมเป็นเวลานานๆ ก็อาจเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แถมมาให้อีกด้วย มีวิธีตรวจสอบแก้ไขดังนี้
• หากปาเก้เปียกน้ำเล็กน้อยไม่ถึงกับหลุดล่อนออกมา แค่เช็ดทำความสะอาดแล้วเปิดประตู หน้าต่างปล่อยให้แห้งโดยให้อากาศถ่ายเทความชื้นออกไป ปาเก้จะเป็ฯปกติได้ไม่ยาก แต่ระวังว่าเมื่อปาเก้ยังชื้นอยู่ไม่ควรเอาสารทาทับหน้าไปทาทับ เนื่องจากจะไปเคลือบผิวไม่ให้ความชื้นในเนื้อไม้ระเหยออกมา
• หากปาเก้มีอาการบิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด กรุณาเลาะออกมาทันที และหากยังอยู่ในสภาพดีก็ผึ่งลมให้แห้งอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้
• หากท่านจะซ่อมแซมพื้นใหม่ ด้วยการเอาวัสดุปูพื้นชนิดใหม่ที่คงทนถาวรทนน้ำได้มากกว่า เช่น กระเบื้อง หรือหินอ่อน แกรนิต เหล่านี้ ต้องระวังอย่างยิ่งเรื่องน้ำหนักวัสดุที่จะปูทับหน้าว่าโครงสร้างเดิมจะรับน้ำหนักได้หรือไม่ ไม่ควรทำไปดื้อๆ เลยเพราะบ้านท่านอาจเสียหายได้
• หากรื้อหรือซ่อมแซมแล้ว ต้องการปูปาเก้แบบเดิม หรือใช้วัสดุอื่นที่ใช้กาวเป้นตัวประสานเช่นกัน เช่น กระเบื้องยาง อย่าปูทับทันที ต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งเสียก่อนแล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้น ถึงน้ำไม่ท่วมรับรองว่าล่อนออกมาอีกแน่นอน
# ซ่อมผนังบ้านหลังน้ำท่วม
ผนังบ้านเรือนหากแช่น้ำไว้นานๆ ก็อาจมีการเสียหายไปบ้าง โดยเฉพาะพวกผนังสำเร็จรูปที่มีน้ำหนักเบาทั้งหลาย ลองมาดูวิธีแก้ไขกัน
• ผนังไม้ ปกติไม้จะไม่เสียหายเมื่ออยู่ใต้ระดับน้ำ แต่มักผุกร่อนในจุดที่มีน้ำขึ้น น้ำลง ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อน้ำลดให้เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบสกปรกออกเพื่อสุขภาพคนในบ้าน เพื่อให้ผิวไม้ระเหยความชื้นออกไปได้ เมื่อแน่ใจว่าผนังแห้งดี แล้วให้ใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาชะโลมลงที่ผิว (ต้องแน่ใจว่าแห้งแล้วจริงๆ มิฉะนั้นอาจเกิดการเน่าได้เนื่องจากความชื้นระเหยไม่ออก) การทาสีหรือยารักษาเนื้อไม้อาจทำภายในก่อนก็ได้เพื่อความสวยงามในการอยู่อาศัย แล้วรออีกสักพัก (3-4 เดือน) จึงทาภายนอกอีกทีเพราะผนังภายนอกน่าจะแห้งสนิทดีแล้ว
• ผนังก่ออิฐฉาบปูน ให้ดำเนินการเหมือนกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งระยะเวลานานกว่าเนื่องจากผนังอิฐจะมีมวลสารและการเก็บกักความชื้นในตัววัสดุได้มากกว่าไม้ จึงต้องใช้เวลาระเหยความชื้นออกไปนานกว่า
นอกจากนี้หากผนังปูนเหล่านี้มีสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำฝังหรือเดินลอยไว้ก็ต้องใช้วิธีเดียวกับเนื้อหาตอนที่แล้ว ตรวจสอบระบบของอุปกรณ์เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพเดิมไปพร้อมกันด้วย
• ผนังยิบซั่มบอร์ด เนื่องจากวัสดุชนิดนี้เป็นแผ่นผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่ไม่ว่าจะดีเพียงใดเมื่อเจอกับน้ำ(ท่วม) แล้วก็คงไม่น่าจะมีชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นให้แก้ไขโดยเลาะเอาแผ่นชนิดนี้ที่โดนน้ำท่วมออกจากโครงเคร่าแล้วค่อยหาแผ่นใหม่มาติด ยาแนว ทาสีทับใหม่ก็เรียบร้อยใช้งานได้เหมือนเดิม พึงระวังเล็กน้อยสำหรับโครงเคร่าผนังที่เป็นไม้ ต้องรอให้ความชื้นในโครงเคร่าระเหยออกไป หรือให้ไม้แห้งเสียก่อนจึงติดผนังเข้าไปใหม่ แต่ถ้าเป็นโครงเคร่าโลหะแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบันคงไม่มีปัญหา
• ผนังโลหะ/กระจก วัสดุเหล่านี้โดยตัวเนื้องวัสดุคงไม่มีความเสียหาย เพียงแค่ทำความสะอาดขัดถูก็จะสวยงามเหมือนเดิม แต่ควรระวังเรื่องรอยต่อว่ามีคราบน้ำ เศษผง สิ่งสกปรกติดฝังอยู่บ้างหรือไม่ หากมีก็ให้ทำความสะอาดเสียให้เรียบร้อย เนื่องจากคราบน้ำ ความสกปรกอาจทำให้วัสดุยาแนวเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด
# การซ่อมวอลล์เปเปอร์หลังน้ำท่วม
เมื่อน้ำท่วมบ้านที่มีผนังบุด้วย วอลล์เปเปอร์ มีวิธีแก้ไขและซ่อมแซม ดังนี้ วอลล์เปเปอร์จะมีลักษณะคล้ายสี ถ้าโดนความชื้นมากๆ จะลอกหรือร่อน การแก้ไขก็โดยการลอกออกให้หมด เพื่อให้ผนังที่ชื้นสามารถระเหยออกมาได้ โดยรอให้ผนังแห้งจริงๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจึงปิด วอลล์เปเปอร์ทับลงไป อาจจะปิดเองถ้าทำได้ หรือตามช่างมา ก็ได้ ถ้าส่วนไหนขึ้นราหรือเป็นคราบเช็ดไม่ออก ก็สามารถเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยเลือกให้มีลวดลายเหมือนเดิม ก็จะได้ผนังสวยงามเหมือนก่อนน้ำท่วม
# การซ่อมแซมฝ้าเพดานบ้านหลังน้ำท่วม
การซ่อมแซมฝ้าเพดาน จะมีลักษณะคล้ายๆ การซ่อมผนังและพื้นปนกัน มีวิธีการแก้ไขคือ ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด หรือกระดาษอัด ถ้าเปื่อยยุ่ยมากเพราะอมน้ำ ก็ควรเลาะ ออกแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่เลย ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริงๆ แล้วจึงทาสีทับ
• ถ้าเป็นฝ้าโลหะ ให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าเป็นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทาสีทับเข้าไปใหม่
• ระบบสายไฟส่วนใหญ่ จะเดินในฝ้าเวลาเปิดฝ้าเข้าไปต้องตรวจดูว่าความเรียบร้อยว่า มีส่วนใดชำรุดหรือเปล่าด้วย
• ถ้าโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้ เกิดการแอ่นหรือทรุดตัว ต้องแก้ไขให้ได้ระดับก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าใหม่
» วิธีการจัดการ ซ่อมแซม ฟื้นฟู ดูแลบ้าน "บ้านหลังน้ำท่วม" เกี่ยวกับ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์ไฟฟ้า พื้นไม้ปาเก้ และผนังบ้านชนิดต่างๆ (ตอนที่ 2)
credit:
หนังสือ "บ้านหลังน้ำท่วม" โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มา http://www.beat2010.net , http://news.mthai.com