ประตูต่างๆ เมื่อถูกน้ำแช่อยู่นานๆ ก็จะบวมขึ้น หรือไม่ก็จะเกิดเป็นสนิม มีวิธีแก้ไขคือ
• ประตูไม้ เมื่อโดนแช่น้ำก็จะบวมและผุพัง มีวิธีแก้ก็โดยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วซ่อมแซมส่วนที่ผุให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีใหม่ แต่ถ้าผุมาก ก็ควรจะเปลี่ยนเลย
• ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออกให้หมด เช็ดให้สะอาดแล้วจึงทาสีใหม่ โดยอย่าลืมทาสีกันสนิมก่อน แต่อย่าลืมดูรอยต่อต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นท่อโครงเหล็กว่า มีน้ำหลงเหลืออยู่เหลือเปล่า ต้องให้แห้งจริงๆ ก่อนจึงจะทาสีได้
• ประตูพลาสติก ส่วนใหญ่จะทนน้ำได้ แต่ให้ระวังอาการที่มีน้ำขังสกปรก ให้หาวิธีเช็ดซับน้ำออก หรือเจาะรูให้น้ำออก
ทีนี้เวลาที่ ประตูบวมน้ำ หรือมีน้ำขังข้างใน จะทำให้น้ำหนักมากและประตูเอียง จากบานพับรับน้ำหนักไม่ไหว หาลิ่มมายันไว้ก่อนให้ใกล้เคียงปกติ แล้วพยายามทำให้แห้งที่สุด จากนั้น ถ้ายังเอียงอยู่ จะไขน็อตเพิ่มหรือเปลี่ยนบานพับก็ตามสมควรครับ
# การซ่อมแซม บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจหลังน้ำท่วม
อุปกรณ์ต่างๆ เช่น บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจ ทำด้วยโลหะ เมื่อโดนน้ำท่วมย่อมมี ปัญหาตามมา มีวิธีแก้ไข คือ
• เช็ดให้แห้งสนิท ขัดส่วนที่เป็นสนิมออกให้หมด ใช้พวกน้ำยาหล่อลื่นชโลมตามจุดรอยต่อและรูต่างๆ ให้ทั่ว
• อย่าใช้จาระบี หรือพวกขี้ผึ้งทา เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกไม่ได้ จะทำให้ฝังอยู่ข้างใน และจะเป็นปัญหาในภายหลัง
• ถ้ายังใช้การไม่ได้ ก็ลองทำตามวิธีที่ว่านี้หลายๆ ครั้ง ถ้ายังมีปัญหา ก็ควรจะต้องถอดออก แล้วซื้อมาเปลี่ยนใหม่
# ซ่อมแซมสีทาบ้านหลังน้ำท่วม
การซ่อมแซมสีทาบ้านทั้งภายนอกและภายใน ควรเป็นสิ่งสุดท้ายในการแก้ไขปรับปรุงบ้าน เพราะเป็นเรื่องของเวลาที่ต้องปล่อยทิ้งให้ความชื้นหรือน้ำในตัววัสดุ ระเหยออกไปให้ได้มากที่สุดครับ มิฉะนั้นท่านทาสีทับไปดีอย่างไร ก็จะเกิดอาการหลุดล่อนในที่สุดครับ
• ข้อควรคิดสำหรับการซ่อมแซมสี คือ ปัญหาสีลอก สีล่อนไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสีแต่เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวที่ทาสีมีความชื้นหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ทาสีทับอย่างไรสีก็จะ ล่อนออกมาอยู่ดีครับ
• ข้อพึงกระทำเวลาซ่อมสี คืออย่างเพิ่งรีบทาสี ให้ทำความสะอาดลอกสีเดิมทิ้งออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เฉพาะที่มีปัญหานะครับ) แล้วทิ้งไว้นานๆ หลายๆ เดือนอาจรอจนถึงหน้าร้อนปีหน้าแล้วค่อยทาสีตามกรรมวิธีของผู้ผลิตก็ไม่สาย
# การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม
การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ก็คล้ายๆ กับการซ่อมแซมพวกประตู หน้าต่าง พื้น หรือฝ้า เพดาน มีวิธีดังนี้
• พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
• พวกประเภทที่บุด้วยนุ่นหรือฟองน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ ถึงจะตากแดดให้แห้ง เชื้อโรคก็ยังมีอยู่
• เฟอร์นิเจอร์ที่ติดกับที่ ที่เรียกว่า "Built in" ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง และสายไฟที่ฝังอยู่ในตู้ รวมถึงทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิด
• ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ ควรรอให้แห้งสนิทก่อน มิฉะนั้นจะลอกได้
# ทำความสะอาดพรมหลังน้ำท่วม
• ใช้สายยางฉีดน้ำแรงๆ เผื่อไล่สิ่งติดค้าง สิ่งสกปรกออกไป
• รีดน้ำที่ขังอยู่ในพรมออกไป โดยการใช้อุปกรณ์ที่กดรีดได้ หรือม้วนบีบ (อย่าบีบแรงเกิน เดี๋ยวเนื้อพรมจะรวน)
• ใช้แชมพูสระผมเด็กในการทำความสะอาด ควรทำความสะอาดพรมแล้วล้างออก จนกระทั่ง น้ำล้างใสสะอาด
• ผึ่งแดดให้แห้ง
# ทำความสะอาดเตียงนอนหลังน้ำท่วม
เตียงนอน ถ้าจมน้ำละก้อ กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวในการทำความสะอาดอย่างมาก แต่ถ้าคุณอยากจะนำมันกลับมาใช้ต้องพยายามกันหน่อย
• ตากแดดให้แห้ง โดยพลิกคว่ำไว้ ตีแรงๆหลายๆครั้ง (ไล่น้ำ ไล่ฝุ่นออก)
• ทำความสะอาดขจัดคราบเปื้อนต่างๆ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วผึ่งแดดอีกครั้ง
• ฉีดสเปรย์ดับกลิ่น แล้วใช้ผ้าปูรองนอน
# ขจัดความชื้นในบ้านหลังน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด
ข้อสุดท้าย อย่าลืมนะครับว่า หัวใจของการซ่อมบ้าน ดูแลบ้าน ส่วนหนึ่งคือ การขจัดความชื้นออกจากบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ และส่วนประกอบต่างๆของบ้าน โดยเร็ว เพราะยิ่งชื้อนานก็จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อ และรา ได้
• เปิดหน้าต่าง ประตูระบายและถ่ายเทอากาศให้ได้มากที่สุด
• ตู้ที่เปียกก็เปิดทิ้งไว้ ให้ระบายความชื้นเช่นกัน
• ใช้พัดลม เปิดแอร์ (โหมดพัดลม)ก็ได้ จะเป็นการระบายความชื้นได้ครับ
• ใช้สารดูดความชื้น (แบบเดียวกับที่มาใน ห่อขนม ห่อสาหร่าย หรือกล่องรองเท้าน่ะครับ)
• ถ้าเร่งให้แห้งเร็ว ก็ใช้พวกไดร์เป่าผมกับส่วนที่ต้องการให้แห้งเร็ว
# ขจัดเชื้อโรคเชื้อราหลังน้ำท่วม
• สำหรับพื้น เก้าอี้ เครื่องไม้เครื่องมือ เตาอบ ผนังบ้าน สามารถใช้น้ำยาประเภทล้างครัวเรือน ผนังห้องน้ำ (bleach) ได้ เพื่อขจัดเอาเชื้อโรค เชื้อราที่ฝังตัวออกไป
• สำหรับเสื้อผ้าที่จมน้ำท่วม ซักผ้าแล้วลวกน้ำร้อนด้วยเลย
• สำหรับจานชามช้อนให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจานใหม่หมด
• ที่สำคัญระหว่างทำความสะอาดสิ่งของเหล่านั้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสูดดม (ทั้งเชื้อโรค และสารเคมีน้ำยาที่ใช้) ด้วยการใส่ถุงมือ และหน้ากาก
» วิธีการจัดการ ซ่อมแซม ฟื้นฟู ดูแลบ้าน "บ้านหลังน้ำท่วม" เกี่ยวกับ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์ไฟฟ้า พื้นไม้ปาเก้ และผนังบ้านชนิดต่างๆ (ตอนที่ 1)
credit: หนังสือ "บ้านหลังน้ำท่วม" โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มา http://www.beat2010.net , http://news.mthai.com
image credit: http://www.homedecorthai.com