Monday, October 31, 2011

วิธีการจัดการ ซ่อมแซม ฟื้นฟู ดูแลบ้าน "บ้านหลังน้ำท่วม" เกี่ยวกับ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์ไฟฟ้า พื้นไม้ปาเก้ และผนังบ้านชนิดต่างๆ (ตอนที่ 1)

ผู้ที่ประสบภัยจากน้ำท่วมกันปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคอีสานและภาคกลางที่ยังเจอสภาพปัญหาดังกล่าวอยู่ ภาครัฐก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสภาพชุมชน สาธารณูปโภคให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว นอกเหนือจากการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าจากการช่วยเหลือบริจาคเงินและสิ่งของแล้ว ในเวลาต่อมาหลังจากน้ำลดเราก็ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของตนเองเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไป

มีเนื้อหาดีๆ จากหนังสือ “บ้านหลังน้ำท่วม” ซึ่งเขียนขึ้นโดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกอาวุโส และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อแนะนำแนวทางง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของท่านหลังจากน้ำท่วมมาบอกเล่าให้ทราบกันเป็นประเด็นดังนี้


# ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม

ขณะน้ำท่วมทุกบ้านคงจะปิดวงจรไฟฟ้าหรือคัทเอ้าท์ทั่วทั้งบ้าน ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าเดินในระบบ ซึ่งลดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย และแก้ปัญหาจากไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อน้ำลดลงควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านของท่านดังนี้

• เปิดคัทเอ้าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ คัทเอ้าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1 วันให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ หากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามช่างไฟมาแก้ไขดีกว่าเสี่ยงชีวิต

• เมื่อทดสอบผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุดและทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กว่ามาปกติหรือไม่ด้วยไขควงทดสอบไฟ หากทุกจุดทำงานได้ก็สบายใจได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน ถ้ายังมีปัญหาก็คงต้องตามช่างมาแก้ไขหรือเปลี่ยนปลั๊ก/ สวิช์เหล่านั้น

• ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัทเอ้าท์ไว้แล้งววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็ว

• หากพอมีงบประมาณสำหรับปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านของท่าน แนะนำให้ตัดปลั๊กไฟในระดับต่ำๆ ในบ้านชั้นล่างออกให้หมด (ถ้าคิดว่าน้ำท่วมอีกแน่ๆ ) แล้วปรับตำแหน่งปลั๊กไฟไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.10 เมตร หลังจากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2-3 วงจร คือ

1. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นล่าง (ที่น้ำอาจท่วมถึง)
2. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นบนขึ้นไป (ที่น้ำท่วมไม่ถึง)
3. วงจรสำหรับเครื่องปรับอากาศ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ท่านควบคุมการเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอิสระ และง่ายต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษา

# ตรวจสอบระบบประปาหลังน้ำท่วม

เป็นอีกระบบที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย มีแนวทางตรวจสอบระบบประปาในบ้านหลังน้ำท่วมดังนี้

• ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง พึงระลึกเสมอว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำสกปรกเสมอ ดังนั้นควรล้างทำความสะอาดถังน้ำ และบ่อน้ำให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของท่านและสมาชิกในบ้าน โดยไม่เสียดายน้ำ แล้วจึงปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

• บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำ และถังอัดความดันว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิม (ก่อนน้ำท่วม) หรือไม่ หลังจากนั้นตรวจสอบดูว่าถังอัดความดันทำความดันได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติควรตรวจสอบด้วยการแกะ แงะ ไข ว่ามีเศษผง สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่

• หากปั๊มน้ำที่บ้านท่านถูกน้ำท่วม ให้เดาไว้ก่อนว่าน่าจะเสียหายและหากใช้งานต่อไปเลยอาจเกิดอันตรายจากความชื้นในมอเตอร์ได้ ควรเรียกหาช่างมาทำให้แห้งเสียก่อนตามกรรมวิธีทางเทคนิค (ที่ไม่ใช่นำไปตากแดดแบบเนื้อเค็ม) เพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ในตัวมอเตอร์ได้

# ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม

อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้แก่เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ และอาจรวมไปถึงรถยนต์ก็ได้ เป็นเครื่องจักรกลที่เราท่านไม่น่าประมาท หรือหาทางแก้ไขซ่อมแซมเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเพิ่งใช้เด็ดขาด เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วม ก็แสดงว่าน้ำไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้จะป่วยไข้ เสียหายแค่ไหน การนำไปตากแดดแล้วมาใช้งานต่อเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตท่าน และอัคคีภัยในบ้านท่านมากจากการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องกลของเครื่องเหล่านั้น แต่ถ้าหากจะยังใช้งานจริงๆ ก็มีข้อแนะนำดังนี้คือ

• ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีคนอยู่ด้วยเสมอ เผื่อเวลาฉุกเฉินจะได้ปิดเครื่อง ดึงปลั๊กได้ทันที

• ที่ Cut out ไฟฟ้าหลักของบ้านท่าน ต้องมีฟิวส์คุณภาพติดตั้งเสมอ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อใด ต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออกทันที

• เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำไปแก้ไขซ่อมแซมโดยช่างผู้รู้ทันที

# ซ่อมพื้นไม้ปาเก้หลังน้ำท่วม

ถ้าพื้นบ้านของท่านเป็นไม้ปาเก้ แล้วถูกน้ำท่วมก็ต้องเข้าใจไว้นิดหน่อยนะว่า ปาเก้หรือไม้แผ่นชนิดนี้อยู่ได้ด้วยกาวติดกับพื้นคสล.(ย่อมาจาก คอนกรีตเสริมเหล็ก) จึงแพ้น้ำ(ท่วม)อย่างแรง เพราะไม้จะบวมน้ำและหลุดล่อนออกมาในที่สุดเป็นเรื่องธรรมดา บางทีหากน้ำท่วมเป็นเวลานานๆ ก็อาจเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แถมมาให้อีกด้วย มีวิธีตรวจสอบแก้ไขดังนี้

• หากปาเก้เปียกน้ำเล็กน้อยไม่ถึงกับหลุดล่อนออกมา แค่เช็ดทำความสะอาดแล้วเปิดประตู หน้าต่างปล่อยให้แห้งโดยให้อากาศถ่ายเทความชื้นออกไป ปาเก้จะเป็ฯปกติได้ไม่ยาก แต่ระวังว่าเมื่อปาเก้ยังชื้นอยู่ไม่ควรเอาสารทาทับหน้าไปทาทับ เนื่องจากจะไปเคลือบผิวไม่ให้ความชื้นในเนื้อไม้ระเหยออกมา

• หากปาเก้มีอาการบิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด กรุณาเลาะออกมาทันที และหากยังอยู่ในสภาพดีก็ผึ่งลมให้แห้งอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้

• หากท่านจะซ่อมแซมพื้นใหม่ ด้วยการเอาวัสดุปูพื้นชนิดใหม่ที่คงทนถาวรทนน้ำได้มากกว่า เช่น กระเบื้อง หรือหินอ่อน แกรนิต เหล่านี้ ต้องระวังอย่างยิ่งเรื่องน้ำหนักวัสดุที่จะปูทับหน้าว่าโครงสร้างเดิมจะรับน้ำหนักได้หรือไม่ ไม่ควรทำไปดื้อๆ เลยเพราะบ้านท่านอาจเสียหายได้

• หากรื้อหรือซ่อมแซมแล้ว ต้องการปูปาเก้แบบเดิม หรือใช้วัสดุอื่นที่ใช้กาวเป้นตัวประสานเช่นกัน เช่น กระเบื้องยาง อย่าปูทับทันที ต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งเสียก่อนแล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้น ถึงน้ำไม่ท่วมรับรองว่าล่อนออกมาอีกแน่นอน

# ซ่อมผนังบ้านหลังน้ำท่วม

ผนังบ้านเรือนหากแช่น้ำไว้นานๆ ก็อาจมีการเสียหายไปบ้าง โดยเฉพาะพวกผนังสำเร็จรูปที่มีน้ำหนักเบาทั้งหลาย ลองมาดูวิธีแก้ไขกัน

• ผนังไม้ ปกติไม้จะไม่เสียหายเมื่ออยู่ใต้ระดับน้ำ แต่มักผุกร่อนในจุดที่มีน้ำขึ้น น้ำลง ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อน้ำลดให้เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบสกปรกออกเพื่อสุขภาพคนในบ้าน เพื่อให้ผิวไม้ระเหยความชื้นออกไปได้ เมื่อแน่ใจว่าผนังแห้งดี แล้วให้ใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาชะโลมลงที่ผิว (ต้องแน่ใจว่าแห้งแล้วจริงๆ มิฉะนั้นอาจเกิดการเน่าได้เนื่องจากความชื้นระเหยไม่ออก) การทาสีหรือยารักษาเนื้อไม้อาจทำภายในก่อนก็ได้เพื่อความสวยงามในการอยู่อาศัย แล้วรออีกสักพัก (3-4 เดือน) จึงทาภายนอกอีกทีเพราะผนังภายนอกน่าจะแห้งสนิทดีแล้ว

• ผนังก่ออิฐฉาบปูน ให้ดำเนินการเหมือนกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งระยะเวลานานกว่าเนื่องจากผนังอิฐจะมีมวลสารและการเก็บกักความชื้นในตัววัสดุได้มากกว่าไม้ จึงต้องใช้เวลาระเหยความชื้นออกไปนานกว่า

นอกจากนี้หากผนังปูนเหล่านี้มีสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำฝังหรือเดินลอยไว้ก็ต้องใช้วิธีเดียวกับเนื้อหาตอนที่แล้ว ตรวจสอบระบบของอุปกรณ์เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพเดิมไปพร้อมกันด้วย

• ผนังยิบซั่มบอร์ด เนื่องจากวัสดุชนิดนี้เป็นแผ่นผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่ไม่ว่าจะดีเพียงใดเมื่อเจอกับน้ำ(ท่วม) แล้วก็คงไม่น่าจะมีชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นให้แก้ไขโดยเลาะเอาแผ่นชนิดนี้ที่โดนน้ำท่วมออกจากโครงเคร่าแล้วค่อยหาแผ่นใหม่มาติด ยาแนว ทาสีทับใหม่ก็เรียบร้อยใช้งานได้เหมือนเดิม พึงระวังเล็กน้อยสำหรับโครงเคร่าผนังที่เป็นไม้ ต้องรอให้ความชื้นในโครงเคร่าระเหยออกไป หรือให้ไม้แห้งเสียก่อนจึงติดผนังเข้าไปใหม่ แต่ถ้าเป็นโครงเคร่าโลหะแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบันคงไม่มีปัญหา

• ผนังโลหะ/กระจก วัสดุเหล่านี้โดยตัวเนื้องวัสดุคงไม่มีความเสียหาย เพียงแค่ทำความสะอาดขัดถูก็จะสวยงามเหมือนเดิม แต่ควรระวังเรื่องรอยต่อว่ามีคราบน้ำ เศษผง สิ่งสกปรกติดฝังอยู่บ้างหรือไม่ หากมีก็ให้ทำความสะอาดเสียให้เรียบร้อย เนื่องจากคราบน้ำ ความสกปรกอาจทำให้วัสดุยาแนวเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด

# การซ่อมวอลล์เปเปอร์หลังน้ำท่วม

เมื่อน้ำท่วมบ้านที่มีผนังบุด้วย วอลล์เปเปอร์ มีวิธีแก้ไขและซ่อมแซม ดังนี้ วอลล์เปเปอร์จะมีลักษณะคล้ายสี ถ้าโดนความชื้นมากๆ จะลอกหรือร่อน การแก้ไขก็โดยการลอกออกให้หมด เพื่อให้ผนังที่ชื้นสามารถระเหยออกมาได้ โดยรอให้ผนังแห้งจริงๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจึงปิด วอลล์เปเปอร์ทับลงไป อาจจะปิดเองถ้าทำได้ หรือตามช่างมา ก็ได้ ถ้าส่วนไหนขึ้นราหรือเป็นคราบเช็ดไม่ออก ก็สามารถเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยเลือกให้มีลวดลายเหมือนเดิม ก็จะได้ผนังสวยงามเหมือนก่อนน้ำท่วม

# การซ่อมแซมฝ้าเพดานบ้านหลังน้ำท่วม

การซ่อมแซมฝ้าเพดาน จะมีลักษณะคล้ายๆ การซ่อมผนังและพื้นปนกัน มีวิธีการแก้ไขคือ ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด หรือกระดาษอัด ถ้าเปื่อยยุ่ยมากเพราะอมน้ำ ก็ควรเลาะ ออกแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่เลย ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริงๆ แล้วจึงทาสีทับ

• ถ้าเป็นฝ้าโลหะ ให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าเป็นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทาสีทับเข้าไปใหม่

• ระบบสายไฟส่วนใหญ่ จะเดินในฝ้าเวลาเปิดฝ้าเข้าไปต้องตรวจดูว่าความเรียบร้อยว่า มีส่วนใดชำรุดหรือเปล่าด้วย

• ถ้าโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้ เกิดการแอ่นหรือทรุดตัว ต้องแก้ไขให้ได้ระดับก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าใหม่


» วิธีการจัดการ ซ่อมแซม ฟื้นฟู ดูแลบ้าน "บ้านหลังน้ำท่วม" เกี่ยวกับ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา อุปกรณ์ไฟฟ้า พื้นไม้ปาเก้ และผนังบ้านชนิดต่างๆ (ตอนที่ 2)


credit:
หนังสือ "บ้านหลังน้ำท่วม" โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่มา http://www.beat2010.net , http://news.mthai.com

Saturday, October 15, 2011

วิธีการก่อถุงทราย ป้องกันน้ำท่วม

วิธีการก่อถุงทราย ป้องกันน้ำท่วม

(Building Sand Bag for Flood Protection)

1. ขุดร่องก่อนวางถุงทรายเพื่อให้ถุงทรายมั่นคง ไม่เคลื่อนที่

2. ทรายไม่ควรเต็มถุง เพื่อให้ถุงทรายแต่ละถุงแนบกันสนิท

3. วางผ้าพลาสตกผืนใหญ่ใต้ถุงทรายชั้นล่างสุด และวนรอบนอกกองถุงทราย โดยเอาถุงทรายทับอีกที่ชั้นบนสุด

4. ให้วางเป็นปิระมิดและวางสับหว่างกันในแต่ละชั้น

5. ให้หันฝาถุงทรายเข้าไปในบ้าน

6. ให้เดินขึ้นไปเหยียบหลายๆรอบให้ถุงทรายทับกันมากที่สุด

วิธีการก่อถุงทราย ป้องกันน้ำท่วม (Building Sand Bag for Flood Protection)
credit: http://www.pantip.com
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...