(Bottled Water, Energy Saving Tips For Homes)
ชาวชุมชนแออัดในฟิลิปปินส์นับล้านคน ที่ไม่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เริ่มมีความหวัง หลังหนุ่มหัวใสใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเผยแพร่ไอเดีย "แสงสว่างจากขวดน้ำดื่ม"
ไอเดียของ นาย อิลลัก ดิอาซ ชาวฟิลิปปินส์ ที่สอนชาวบ้านใช้ขวดพลาสติกใสบรรจุน้ำดื่ม ดัดแปลงเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างในบ้านเรือน ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ ซึ่งเชิญเขาไปเป็นวิทยากรรับเชิญ อธิบายถึงแสงสว่างจากธรรมชาตินี้ให้กับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก ที่ประเทศแอฟริกาใต้ด้วย
เทคนิคที่ ดิอาซ สอนชาวบ้านคือ การนำขวดพลาสติกใส มาเติมน้ำกลั่นลงไปให้เต็ม และอาจจะเติมสารฟอกขาวลงไปเล็กน้อยเพื่อป้องกันแบคทีเรียที่จะเติบโตในขวด แล้วนำไปติดตั้งไว้บนหลังคาที่เจาะช่องว่างไว้ เท่านี้แสงสว่างที่เกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ก็จะทำให้บ้านเรือนในสลัมของกรุงมะนิลา ที่เคยมืดมิดจากความแออัดของชุมชนในตอนกลางวัน กลับมีแสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรมต่างๆได้ภายในบ้าน โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าเลย
แสงสว่างที่ได้จากขวดน้ำนี้สว่างเท่ากับ หลอดไฟฟ้า 55 วัตต์ และแต่ละขวดก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนานสูงสุดถึง 5 ปี ทำให้ผู้ที่ทดลองใช้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงไปได้มาก
นาย ดิอาซ ได้ก่อตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า MyShelter Foundation ขึ้น โดยได้ตระเวนออกไปติดตั้งแสงสว่างจากขวดน้ำดื่มนี้ให้ในชุมชนแออัดต่างๆ เริ่มต้นที่กรุงมะนิลา ไปแล้วกว่า 15,000 ขวด และการที่กระแสตอบรับดีทำให้เชื่อว่าในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาปลายปีนี้น่าจะมีอาสาสมัครจำนวนมากมาช่วยประดิษฐ์ และติดตั้ง คาดว่าจะทำเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ขวด ขณะเดียวกันก็มีโครงการที่จะไปติดตั้งให้กับชุมชนแออัดในเมืองเซบู เมืองใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศ อีกราว 100,000 ขวด โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ด้วยและเป้าหมายสูงสุดของมูลนิธิคือช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากถึง 1 ล้านคนภายใน 1 ปี
นาย ดิอาซ ระบุว่า ไอเดีย "แสงสว่างจากขวดน้ำดื่ม"กำลังแพร่หลายอย่างมากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะในยูทูบ และเฟซบุ๊ก
ไอเดีย "แสงสว่างจากขวดน้ำดื่ม" ได้รับการยกย่องว่าเป็นแนวทางประหยัดทรัพยากรพลังงานในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงผู้คนที่ยากจนได้มากกว่า แนวคิดของ นาย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยเสนอไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ที่เสนอให้มีการใช้แผงโซลาเซลล์ รวมไปถึงกังหันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงประเทศที่ยากจนอย่างฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่แพงขนาดนั้นได้
credit: http://campus.sanook.com/